แหล่งเงินได้ที่จะต้องเสียภาษี
แหล่งที่มาของเงินได้ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศจะต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีหลักในการพิจารณาดังนี้
๑) แหล่งเงินได้ที่เกิดในประเทศไทย หมายถึง กรณีผู้มีเงินได้พึงประเมินมีแหล่งเงินได้เกิด ในประเทศไทยในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจาก
– หน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย หรือ
– กิจการที่ทำในประเทศไทย หรือ
– กิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือ
– ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย
ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้มีเงินได้นั้นจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ และไม่ว่าเงินได้พึงประเมินนั้นจะจ่ายในหรือนอก ประเทศไทยก็ตาม ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้เสมอ
๒) แหล่งเงินได้ที่เกิดนอกประเทศไทย หมายถึง กรณีผู้มีเงินได้พึงประเมินมีแหล่งเงินได้ เกิดนอกประเทศในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจาก
– หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ หรือ
– กิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือ
– ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ
ผู้มีเงินได้มีหน้าที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทย ก็ต่อเมื่อครบองค์ประกอบทั้ง 2 ข้อดังต่อไปนี้
๒.๑) ต้องเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีนั้น และ
๒.๒) ได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีที่เกิดเงินได้
คำว่า ผู้อยู่ในประเทศไทย หมายความถึง ผู้อยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะรวมเวลาทั้งหมดถึง ๑๘๐ วันในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีนั้น
คำว่า ปีภาษี หมายถึง ปีปฏิทิน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ถึง วันที่ ๓๑ ธันวาคม ทุกปี